เดิน 15 นาที ย่านนี้ มีอะไรให้ดู

April 20, 2024 | by Thailand Gastronomy

Share

EP.1 เดิน 15 นาที มีอะไรให้ดูรอบวัดหลวงพ่อโสธร

เรื่อง และภาพ TGN TEAM  

นักท่องเที่ยวที่มุ่งหน้าไปกราบขอพรหลวงพ่อโสธร อาจไม่ค่อยสนใจสอดส่องพื้นที่รอบวัด เพราะสิ่งที่เห็นได้ชัดอย่างเป็นร้านสะดวกซื้อ ห้องน้ำสาธารณะ แผงล็อตเตอรี่ ลานจอดรถ ที่บดบังเส้นทางอาหารของชาวแปดริ้วไปสิ้น TGN ได้โอกาสไปเยือนเมืองแปดริ้วทั้งที ขออาสาพาไปส่องตลาดขายของฝากหน้าวัดหลวงพ่อโสธร ลองมาดูกันว่าในเวลา 15 นาที เราจะมีเรื่องราวอาหารแง่มุมไหนติดมือมาฝากกันบ้าง  

TGN

01 วัดหลวงพ่อโสธร

วัดโสธรวรารามวรวิหาร หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดหลวงพ่อโสธร” ในอดีตชื่อว่า “วัดหงษ์” เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงคู่บ้านคู่เมืองของคนแปดริ้ว เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐาน “หลวงพ่อพุทธโสธร” ซึ่งตามตำนานเล่าว่า มีพระพุทธรูปสามองค์ลอยน้ำมาผุดที่บ้านสัมปทวน (สามพระทวน) ชาวบ้านที่ได้พบเห็นพยายามฉุดองค์พระขึ้นจากน้ำแต่ก็ไม่สำเร็จ ทั้งสามองค์ลอยทวนน้ำหนีไป องค์ที่หนึ่ง คือ “หลวงพ่อบ้านแหลม” มีการอัญเชิญขึ้นฝั่งที่วัดบ้านแหลม (วัดเพชรสมุทรวรวิหาร จังหวัดสมุทรสงคราม) องค์ที่สอง คือ “หลวงพ่อพุทธโสธร” มีการอัญเชิญขึ้นฝั่งที่วัดหงษ์ หรือวัดหลวงพ่อโสธรในปัจจุบัน และองค์ที่สาม คือ “หลวงพ่อโต” มีการอัญเชิญขึ้นฝั่งที่วัดบางพลีใหญ่ หรือวัดพลับพลาชัยชนะสงคราม จังหวัดสมุทรปราการ นี่แค่ฟังตำนานว่าองค์พระมาประดิษฐานอยู่ที่นี่ได้อย่างไร ก็ยังน่าทึ่งขนาดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่หลวงพ่อโสธรจะเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวพุทธทั้งใกล้ไกลตลอดมา 

เราตั้งโจทย์กันว่า ไหว้พระเสร็จแล้วลองใช้เวลาสัก 15 นาทีสำรวจพื้นที่หน้าวัดจะได้เห็นอะไรบ้าง โดยใช้กรอบแนวคิดเรื่อง “เมือง 15 นาที” ที่กล่าวว่าคุณภาพชีวิตของคนในเมืองจะดีหากในระยะเวลาเดินทางเพียง 15 นาที มีสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับชุมชน และที่สำคัญควรมีระบบอาหารยั่งยืน ลองมาดูกันว่าเราจะได้เรียนรู้อะไรจากตลาดของฝากหน้าวัด

02 ไข่ต้มแก้บน

แค่เดินเข้าตลาดเราก็สะดุดตากับร้านขายไข่ต้ม ที่จัดตะกร้าชุดไข่แก้บนสะท้อนความเป็นเมืองอาหาร เพราะไม่ได้มีแค่ไข่ต้มเท่านั้น หากยังมีน้ำปลาขวดเล็ก ๆ ใส่ไปด้วย อดคิดไม่ได้ว่าหากถวายไข่ต้มเสร็จแล้ว คงให้ปอกไข่เหยาะน้ำปลากินลงท้องแก้หิวได้เลย หลังแก้บน

เราขออนุญาตเจ้าของร้านถ่ายรูปไข่ต้มที่อยูในกระทะน้ำร้อนควันฉุย คุณลักขณาเจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่าแต่ก่อนนี้มีคนนิยมมาบนหลวงพ่อโสธรด้วยหัวหมู เป็ด ไก่ เป็นตัว ๆ และถ้าเป็นไข่ต้มก็จะย้อมสีแดง เหมือนการไหว้เจ้า แต่ราว ๆ 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้เองมีคนบอกว่าหลวงพ่อโสธรท่านเป็นมังสวิรัติไม่ฉันเนื้อสัตว์ บ้างก็ว่าถวายแต่เป็ดไก่ หัวหมูท่านคงจะเบื่อ อยากฉันไข่ต้มบ้าง ส่วนอีกกระแสบอกว่ามีช่วงหนึ่งที่ไข่ไก่ในฉะเชิงเทราราคาตก เลยมีคนไปขอพรกับหลวงพ่อแล้วบนด้วยไข่ต้ม ปรากฎว่าสิ่งที่บนบานขอนั้นสำเร็จสมความปรารถนาจึงเป็นที่มาของการแก้บนด้วยไข่ต้ม นับจากนั้นเป็นต้นมา

นับว่าเป็นกลยุทธ์กระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดได้อย่างแยบยล เพราะที่ฉะเชิงเทรามีฟาร์มเลี้ยงไก่เป็นจำนวนมาก แต่คำถามว่า “ไข่ไก่มาจากไหน” ยังไม่สำคัญเท่ากับ “ไข่ไก่ไปที่ไหนต่อ” ราวเดือนพฤษภาคม ปี 2566 เกิดกระแสดราม่าไข่แก้บน จากการที่มีหญิงสาวคนหนึ่งซื้อไข่ต้มไปแก้บนหลวงพ่อโสธร ปรากฎว่าได้ไข่เน่าไปทั้งตะกร้า พากันเสียชื่อเสียงพ่อค้า แม่ค้า ไปทั้งแถบ ดังสำนวนไทยที่ว่า “ปลาเน่าตัวเดียว เหม็นไปทั้งข้อง” ทั้งที่ในความเป็นจริง ผู้ขายไข่ต้มแก้บนจะต้องขายไข่ต้มสุกใหม่ ต้มแบบวันต่อวันเท่านั้น ในกรณีที่ลูกค้าต้องการไข่แก้บนเป็นจำนวนหลักพัน หลักหมื่นฟอง ต้องโทรมาจองไว้ก่อนล่วงหน้า ส่วนไข่ต้มสำหรับนักท่องเที่ยวจรมา ก็จะต้มเผื่อไว้ แต่ไม่มากจนเกินไป

คุณลักขณาแนะนำว่า เมื่อนำไข่ต้มไปแก้บนแล้วก็ควรจะลาของถวายพระ แล้วนำไข่ต้มกลับไปแจกจ่ายด้วยตนเอง ถวายปัจจัยลงในตู้รับบริจาคแทนไข่ ทางวัดก็สามารถนำปัจจัยทำบุญไปทำนุบำรุงศาสนสถานและยังเผื่อแผ่มายังงานบริการชุมชนโดยรอบวัดได้อีกด้วย “อย่าทิ้งไข่ไว้ที่วัดเลย คุณไม่รู้หรอกว่าไข่ต้มที่แก้บนแล้วจะไปไหนต่อ”

03 ขนมจาก

พักเรื่องไข่ต้มไว้แล้วเราเดินกันต่อไปยังตลาดติดกัน กลิ่น “ขนมจาก” หอม ๆ ที่ย่างอยู่บนเตาถ่านในขณะนั้น ชวนให้สบตาสามีภรรยาที่ช่วยกันอย่างขมีขมัน สอบถามได้ความว่าคุณพี่ทั้งคู่เป็นทายาทรุ่นสองที่รับช่วงต่อมาจากคุณแม่เหรียญทองที่ขายขนมจากมากว่า 60 ปี สูตรขนมจากของคุณแม่ต้องนวดด้วยมือและใส่มะพร้าวอ่อนโรยไปบนแป้งข้าวเหนียวที่คลุกเคล้ากับเนื้อมะพร้าวอ่อน ใส่น้ำตาลเล็กน้อย ให้รสหวานกลมกล่อมเหนียวหนึบ ย่างจนสุกขอบเกรียมนิด ๆ ให้รสสัมผัสที่ดีเวลาเคี้ยว แต่น่าเสียดายที่จะไม่มีรุ่นสามมารับช่วงต่อ เพราะการเตรียมขนมจากหนักเกินไป หากต้องการให้เบาแรง ไม่เปลืองเวลา ก็ต้องใช้เครื่องจักรมานวดแป้ง แต่นั่นจะทำให้เสียเอกลักษณ์ความอร่อยของ “ขนมจาก” สูตรคุณแม่เหรียญทองไปเลย 

04 เครื่องจักสานท้ายตลาด

ท้ายตลาดมีร้านจักสานที่กวักมือเรียกเรามาแต่ไกลด้วยงานจักสานไม้ไผ่เกือบทั้งร้าน ฝาชีไม้ไผ่สานขนาดใหญ่ฝีมือประณีตมีทั้งแบบสีสันสดใสและสีไม้ไผ่แท้ สังเกตดูว่าเครื่องจักสานเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากวิถีการกินทั้งสิ้น ตั้งแต่ ขันโตก กระติบข้าวเหนียว หวดนึ่งข้าวเหนียว กระบุง กระจาด ตะกร้าไปตลาด ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ฯลฯ ทุกชิ้นสานได้สวยงามเห็นได้ชัดถึงความชำนาญของช่างฝีมือ ซึ่งเจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่ามาจากทางอำเภอพนัสนิคม

จากไข่ต้ม ถึงขนมจาก ไปสู่กระบุง กระจาด ฝาชี…แม้จะเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ชั่วเดินได้ในระยะเวลา 15 นาที ก็ยังเห็นถึงรากที่มาของวัฒนธรรมอาหารการกินที่แผ่สาแหรกออกไปอย่างกว้างใหญ่ของเมืองแห่งลุ่มแม่น้ำบางปะกง

Latest Blogs

All Blogs
Blog
May 11, 2025

Gastronomy Tourism Research

เจาะลึกเบื้องหลังทีมวิจัยนักสร้างสรรค์แนวคิดการท่องเที่ยวเชิงอาหารทั่วไทย ในยุคที่ “อาหาร” คือ “เรื่องเล่า” ที่ส่งต่อความทรงจำ วัฒนธรรม และโอกาส เครือข่ายวัฒนธรรมอาหารประเทศไทย Thailand Gastronomy Network (TGN) ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ร่วมกันเปิดหน้าประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการท่องเที่ยวไทย ผ่านโครงการวิจัยชุดใหญ่ที่ชื่อว่า “แนวทางเชิงกลยุทธ์เพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวเชิงอาหาร” งานวิจัยนี้ สำรวจศักยภาพอาหารไทยในฐานะเครื่องมือทรงพลังที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และความยั่งยืน เบื้องหลังโครงการวิจัยที่เต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ คือทีมงานที่ประกอบด้วยนักวิจัยระดับแนวหน้า เชฟ ผู้ออกแบบ นักเล่าเรื่อง และผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่น ที่ร่วมกันตีความ “การท่องเที่ยวเชิงอาหาร” ให้เป็นเครื่องมือสร้างอนาคต โดยลงพื้นที่จริงใน 5 ภูมิภาคของประเทศไทย และร้อยเรียงออกมาเป็นเรื่องเล่าที่ทั้งเข้มข้นเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจ Case Study 1 : ภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา – จันทบุรี) Theme: Ecosystem Developmentโดย: ธัญญารัตน์ ดุมกลาง และ กฤษฎากร สุขมูล “สายน้ำ ผืนป่า ศรัทธา” คือหัวใจของจังหวัดฉะเชิงเทราที่ทีมวิจัยใช้เป็นกรณีศึกษา […]

Thailand Gastronomy
Events
January 1, 2025

Gastro Club Event : January 2025

KTC EXCLUSIVE JOURNEY TRIP 9 – 10 January 2025 Bangkok – Phetchaburi เส้นทางสู่มรดกแห่งความหวาน รสชาติเมืองเพชรทริปรถไฟสุดพิเศษ สู่เสนห์เมืองมรดกด้านอาหารของยูเนสโก้ สอบถามรายละเอียดการจัดกิจกรรมพิเศษ EXCLUSIVE JOURNEY TRIP Email : [email protected]

Thailand Gastronomy
Blog
December 19, 2024

Rail Journey : Staycation

STAYCATION @ Khao Taoเที่ยวไป ชิลล์ไป ทำงานไป จากบนรถไฟถึงเขาเต่า เรื่อง : สุทธิมา เสืองาม ภาพ : กฤษฎากร สุขมูล “เส้นทางชีวิตของคนเราไม่ต่างกับถนน มีทางแยก ทางตรง ทางเลี้ยว พอเราเดินทางมาถึงจุดหนึ่ง ความสนุกกลับไม่ใช่การไปให้ถึงเป้าหมาย แต่เป็นการเก็บเกี่ยวเรื่องราวระหว่างทาง และถ้าหากได้เพื่อนร่วมทางที่รู้ใจก็ยิ่งดี จะได้ชวนกันไปค้นหาแรงบันดาลใจที่ไม่ถูกจำกัดอยู่กับโลกใบเดิม“ การเดินทางโดยรถไฟกลายเป็นสิ่งใหม่สำหรับเรา ทั้งที่อยู่คู่กับคนไทยมากว่า 120 ปี เพราะเราอยากมีประสบการณ์แบบ STAYCATION ที่ได้พักผ่อนไป ทำงานไป และ “เขาเต่า” ดูจะเป็นจุดหมาย ที่เหมาะกับการเดินทางครั้งนี้ เพราะสงบเงียบและมีจุดท่องเที่ยวอื่น ๆ ให้เราหยุดแวะตามรายทาง เราตัดสินใจนั่งรถไฟไปลงที่สถานีหัวหิน ด้วยรถไฟชั้น 3 ขบวน 261 “กรุงเทพฯ-สวนสนประดิพัทธ์” เป็นรถไฟดีเซลรางแบบธรรมดา ออกจากสถานีกรุงเทพ เวลา 9.20 น. ถึงหัวหินเวลา 14.15 น. ค่าตั๋วรถไฟคนละ 44 […]

Thailand Gastronomy